CMTH : Sanpasak School

header

24-8-2557 9-12-47

Station Info

Chiang Mai – Hod
Chiang Mai, 50230 Thailand

This station is a EQ-1 seismometer that was installed on 06/05/2010 at an elevation of 380 meters.

http://www.sps-school.com

Latitude: 18.71467
Longitude: 98.93877

Teachers

  • Wallapa Promtow
  • Natthawut Saisupa

เผยแพร่ข้อมูลแผ่นดินไหว

เอกสาร/คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบโครงการ

โครงการ : ศูนย์การเรียนรู้ด้านแผ่นดินไหวแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(Earth Quake Learning Center at Kasetsart UniverSity : QUAKES)

1.) หลักการและเหตุผล

แผ่นดินไหวจัดเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งที่สามารถคร่าชีวิตและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษย์ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราต้องประสบภัยจากแผ่นดินไหวมาโดยตลอด

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะดูเหมือนมีความเสี่ยงต่อภัยจากแผ่นดินไหวน้อยกว่าดินแดนอื่นๆในอีกหลายประเทศ(ดังเช่นที่มีนักวิชาการบางท่านมักออกมาให้สัมภาษณ์ อยู่เป็นประจำ) เช่น ประเทศจีน อินโดนีเซีย ทางซีกตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆแล้วประเทศไทยก็มีแผ่นดินไหวขนาดเล็ก-ปานกลางเกิดขึ้นโดยตลอด โดยแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกได้นั้นมีขนาด 5.9 มาตราริกเตอร์ ซึ่งเกิดขึ้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2526 เรายังโชคดีที่แผ่นดินไหวในครั้งนั้นเกิดห่างไหกลจากบริเวณชุมชนอาศัยอยู่ จึงมีผู้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก

อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผ่นดินไหวขนาด 5 มาตราริกเตอร์ เกิดขึ้นหลายครั้งและถ้าเมื่อไดที่แผ่นดินไหวเกิดในบริเวณใกล้กับชุมชน ก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบแทบทุกครั้ง เช่นแผ่นดินไหว 5.1 ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 11กันยายน 2537 หรือแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2549 หรือแม้กระทั่งแผ่นดินไหวขนาด 4.7มาตราริกเตอร์ ที่อำเภอแม่ริมจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 เป็นต้น แผ่นดินไหวเหล่านี้ล้วนสร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนและสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ดังนั้นประเทศไทยจึงยังเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อภัยจากแผ่นดินไหวอยู่

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะสุมาตรา-นิโคบา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2546 เป็นต้นมา ประชาชนเริ่มให้ความสนใจกับแผ่นดินไหวมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากจากคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้น แต่ความสนใจของประชาชนไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่เข้าใจธรรมชาติของแผ่นดินไหวอย่างถ่องแท้ โดยจะเป็นการสนใจในลักษณะของการตื่นกลัวมากกว่า ดังเช่นกรณีประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรีต่างรีบอพยพขึ้นภูเขา เพียงเพราะมีคนเมามาตะโกนว่าเขื่อนศรีนครินทร์แตกเพราะแผ่นดินไหว หรือการที่มีนักวิชาการบางท่านออกมาพูดว่าสามารถทำนายได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องนักเพราะในปัจจุบันเรายังไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ ทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังคำพูดดังกล่าวเข้าใจผิดและได้รับความรูเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การขาดความพร้อมในการระวังป้องกันและเตรียมรับมือกับภัยจากแผ่นดินไหวในที่สุด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องการให้ความรู้แก่ประชาชนไทยในเรื่องแผ่นดินไหวอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องธรรมชาติของการเกิดแผ่นดินไหว หรือการเตรียมตัวระวังป้องกันและรับมือกับภัยจากแผ่นดินไหว เป็นต้น

เนื่องจากสังคมยังขาดความรู้ด้านแผ่นดินไหวอีกมาก ทำให้คณะผู้ดำเนินการเห็นว่าการให้ความรู้ด้านแผ่นดินไหวแก่ประชาชนนั้นยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะการให้ความรู้แก่เยาวชนของชาติซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในระดับประถมและมัธยม ให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านความรู้เรื่องธรรมชาติของการเกิดแผ่นดินไหว และการเตรียมตัวระวังป้องกันและรับมือกับภัยของแผ่นดินไหวอันจะช่วยให้เขาเหล่านี้สามารถป้องกันตัวเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนในสาระที่ 6 เรื่องโลกและอวกาศ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของหมวดวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ ในระดับประถมและมัธยมอีกด้วย

โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านแผ่นดินไหว แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็น โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถม-มัธยมปลายในด้านแผ่นดินไหว โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ

  1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในเรื่องธรรมชาติของแผ่นดินไหวและการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติโดยการสร้างและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวอย่าง่ายในสถานศึกษาของตนเอง ให้นักเรียนสามารถบันทึก วิเคราะห์ข้อมูล และรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ได้ รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในการเฝ้าระวัง เตรียมตัวรับมือ และบรรเทาภัยจากการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความศูนย์เสียจากภัยแผ่นดินไหวต่อชีวิตและทรัพย์สินให้เหลือน้อยที่สุด
  2. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาด้านแผ่นดินไหวระหว่างคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับหน่วยงานต่างๆและสร้างกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยสร้างโครงข่ายการตรวจวัดแผ่นดินไหวในระดับโรงเรียนด้วยเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวด้วยเครื่องอย่างง่ายและมีราคาถูกซึ่งสามารถตรวจวัดการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงได้
  3. เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนระดับประถมและมัธยม มีความสนใจในการศึกษาเรื่องโลกและอวกาศ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของหมวดวิทยาศาสตร์กายภาพ ในระดับประถมและระดับมัธยม และนำไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นของศาสตร์ดังกล่าว เช่นสาขาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ธรณีวิทยา และธรณีศาสตร์ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

2.) ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1. ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (โดย ดร.ภาสกร ปนานนท์)
  2. ดร. ธนู หาญพัฒนพานิชย์ (บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด)
  3. หน่วยงานภายนอกที่ทำงานร่วมกัน(อยู่ระหว่างการประสานงาน)
  4. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)
  5. สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย
  6. บริษัท ปตท.(มหาชน) จำกัด
  7. บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (มหาชน) จำกัด
  8. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  9. Incorporated Research Institutions for Seismology (IRIS) ประเทศสหรัฐอเมริกา
  10. Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา

3.) วิธีดำเนินงาน

ประกอบด้วยการให้ความรู้ภาคทฤษฎีด้านแผ่นดินไหวและการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวทั้งในชั้นเรียน และในภาคปฏิบัติการโดยการสร้างและใช้งานเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวอย่างง่ายที่มีราคาถูก(ประมาณ 40,000 บาทต่อเครื่อง ในขณะที่เครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่มีขายอยู่ท้องตลาดมีราคา ชุดละ 800,000-2,000,000 บาท) ที่ติดตั้งอยู่ในโรงเรียนเครือข่ายและฝึกให้นักเรียนสามารถบันทึก วิเคราะห์ข้อมูลและรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ได้

4.) ระยะเวลาดำเนินงาน

1 ปี (ปีแรก)

5.) สถานที่

ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการชั้นเรียน ณ โรงเรียนเครือข่าย ที่เข้าร่วมโครงการ

6.) กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ

โรงเรียนเครือข่ายในโครงการ จำนวน 10 โรงเรียน โดยแต่ละเครือข่ายประกอบด้วย อาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมและระดับมัธยม ของโรงเรียนเครือข่ายอย่างน้อยเครือข่ายละ 1 คน และนักเรียนร่วมโครงการในแต่ละโรงเรียนเครือข่ายอย่างน้อยเครือข่ายละ 5 คน รวมจำนวน 60 คน

7.) ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ครูและนักเรียนที่ร่วมโครงการมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในเรื่องธรรมชาติของแผ่นดินไหวและการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวและสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับให้แก่ผู้ปกครองและครอบครัวให้มีความเข้าใจในธรรมชาติของแผ่นดินไหวและมีความพร้อมในการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวมากขึ้น
  2. เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาด้านแผ่นดินไหว ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับหน่วยต่างๆ และสร้างกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องในอนาคต รวมทั้งมีโครงข่ายการตรวจแผ่ดินไหวในระดับโรงเรียน ด้วยเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวอย่างง่ายและมีราคาถูก ซึ่งสามารถตรวจวัดการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงได้
  3. นักเรียนระดับประถมและมัธยม มีความสนใจในการศึกษาเรื่องโลกและอวกาศ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของหมวดวิทยาศาสตร์กายภาพ ในระดับประถมและมัธยม และสนใจการศึกษาในด้านที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูง เช่น สาขาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ธรณีวิทยาและธรณีศาสตร์